เรื่องของ "การวอร์ม"

วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555 - เขียนโดย demelody ที่ 09:09

        เวลาเราเล่นกีฬาใดๆก็ตาม คุณครูมักจะใช้เวลาค่อนข้างมากในการวอร์มเพื่ออบอุ่นร่างกาย ป้องกันการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้น หรือใ้ห้กล้ามเนื้อได้จดจำและนำไปใช้ในการเล่นจริง ซึ่งการวอร์มนี้มีอยู่ในการเรียนดนตรีเช่้นกันค่ะ

        น้องๆที่เรียนดนตรีอย่าเพิ่งท้อใจ หากคุณครูให้ทำสิ่งต่อไปนี้ในคลาสเรียน เพราะนี่คือสิ่งจำเป็นที่นักดนตรีมืออาชีพรับรองว่าจะทำให้การเรียนดนตรีของเราได้ผลดีมากที่สุด

1.ให้เล่นสเกล จนตาลาย หรือซ้อมแบบฝึกหัดอื่นๆ  ในชม.เรียนเปียโน
        - ถึงแม้จะน่าเบื่อไปนิด สับสนไปหน่อย แต่การฝึกนิ้วมือแบบนี้ จะทำให้้เรามีกำลังนิ้วในการเล่นเพลงที่ยากขึ้น และสามารถนำไปใช้ในบางท่อนของเพลงได้อีกด้วย นอกจากนี้เรายังได้เรียนรู้การออกแบบนิ้วมือ การหมุนนิ้ว การกะระยะนิ้วมือ การอ่านโน๊ต การจับจังหวะ และสัญลักษณ์อื่นทางดนตรีอีกด้วยค่ะ เมื่อกล้ามเนื้อเราคุ้นชินและเข้าใจสัญลักษณ์แล้ว เราจะได้ไม่ต้องห่วงเวลาเล่นเพลงที่ยากขึ้่นเพราะนิ้วมือเราคุ้นเคยกับคีย์เปียโน เราเล่นไป มือขวา มือซ้ายขยับไปตามโน๊ตที่ไม่เหมือนกัน เท้าขวาเหยียบPedal เท้าซ้ายนับจังหวะ ตาจ้องโน๊ต ทำได้ไม่ยากแล้วค่ะ

2.ให้ร้อง Ha...Ha...Ha...ไล่ขึ้นไล่ลงซ้ำไปมา มากกว่าจะให้ร้องเพลงที่อยากเรียนซะอีก
       - นี่คือขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการเรียนร้องเพลงเลยค่ะ เพราะการวอร์มเสียงจะช่วยให้ครูและนร.รู้ว่าควรแก้ไขส่วนไหนให้มีคุณภาพและไพเราะมากขึ้นได้ การเรียนร้องเพลงนั้นไม่เหมือนการเรียนดนตรีอื่นๆที่มีเครื่องดนตรีให้เห็น แต่การเรียนร้องเพลงอาศัยร่างกายเป็นเครื่องดนตรี ดังนั้น งานหนักจึงตกอยู่ที่ครู ที่จะอธิบายเพื่อให้นร.ทำความเข้าใจกับร่างกายของตนเองให้ได้ หากให้ร้องเพลงเลยนร.อาจจะกังวลทั้ง เนื้อเพลง จังหวะ ทำนอง เพราะฉะนั้นให้เวลากับการวอร์มเสียงหน่อยนะคะ จะได้คอยเช็คตัวเองด้วยว่าเรายังต้องปรับปรุงจุดใดเพิ่มเติมอีกบ้าง


3.ให้ฝึกใช้ Bow สีขึ้น สีลง ขยับขึ้น ขยับลง ก่อนเรียนไวโอลิน
      - หากเล่นไวโอลินแล้วสีไปมา ซ้ำที่เดิมแบบนี้ แน่นอนว่าเสียงที่ออกมาคงไม่ไพเราะเท่าไร แต่ครูที่ดีมีหน้าที่ต้องชักจูงให้นร.สนุกกับมันให้ได้ค่ะ เพราะไวโอลินต้องฝึกการควบคุมBow(คันชัก) ให้ได้ตำแหน่งตรงกับสายที่ต้องการ นิ้วมือให้ตรงกับเสียงโน๊ต องศาของแขนทั้ง2ข้างให้เหมาะพอดี และคุมคุณภาพของเสียงที่ออกมาให้สม่ำเสมอ การฝึกฝนกล้ามเนื้อให้เคยชินในตำแหน่งที่ถูกต้องจึงสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ค่ะ เพราะฉะนั้นอดทนนิดหน่อย เพื่อผลลัพท์ที่คุ้มค่านะคะ





4.ให้ฝึกโซโลท่อนใดท่อนหนึ่ง วนไปมา เล่นสเกลไล่ขึ้นลง เวลาเราเรียนกีต้าร์
     - ไม่ว่าจะกีตาร์คลาสสิค กีตาร์ไฟฟ้า อูคูเลเล่ หรือเบส ตามหลักสูตรได้มาตรฐานคือ เราจะต้องอ่านโน๊ตได้เป็นพื้นฐาน และรู้ตำแหน่งของตัวโน๊ตบนเครื่องดนตรีของเราให้ได้ ถ้าเราเล่นเพลงไล่ไปแต่ต้นจนจบก็จะมีเวลาน้อยที่ได้แก้ไขส่่วนที่ผิดพลาด ครูจึงต้องให้ฝึกท่อนนั้นซ้ำๆก่อน (นร.ต้องมีวินัยซ้อมด้วยนะคะ) เพราะตำแหน่งบนเครื่องดนตรีประเภทนี้ไม่ได้เรียงเหมือนเปียโน ดังนั้นเราต้องมีหลักการจำตำแหน่ง การอ่านโน๊ต และฝึกให้ขยับปรับเปลี่ยนตำแหน่งนิ้วมือให้คล่อง ซึ่งก็จะได้จากการเล่นสเกล และฝึกซ้ำไปมานั่นแหละค่ะ

5.ยืดหยุ่นร่างกาย เตะขาสูง ฝึกหมุน ฝึกท่าพื้นฐานที่ชื่อจำยากๆ  ดัดมือ ดัดตัว ก่อนเริ่ม "เต้น และ รำ"
    - นี่ไม่ใช่การเรียนดนตรี แต่เกือบจะอยู่ในหมวดกีฬาด้วยซ้ำ ดังนั้น อย่าเพิ่งหงุดหงิดว่าทำไมครูไม่สอนท่าเต้นให้เข้ากับเพลงซะที เชื่อได้ว่าคุ้มเวลาเราแน่นอนเพราะการยืดหยุ่นร่างกายก่อนการเต้น และ รำ ช่วยลดการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น ยังช่วยให้เราทำท่าสวยๆยากๆได้ดีขึ้นอีกด้วย ส่วนการทำท่าพื้นฐานชื่อยากๆที่ว่านั้น ท้ายที่สุดแล้วเราจะสังเกตได้ว่า ท่านั้นจะมาโผล่อยู่ในเพลงที่เราเต้นและรำเกือบทั้งเพลง ถ้าเราทำได้ดีในตอนฝึก กล้ามเนื้อเราจะจดจำโดยอัตโนมัติ ทำให้ขยับแขน ขาว่องไว ไม่ต้องห่วงเวลาเข้ากับจังหวะ คราวนี้พอเข้าเพลงเราจะเต้นได้พลิ้ว รำได้ตัวอ่อนเชียวค่ะ

       การเล่นดนตรี การเต้น ถือเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนเช่นเดียวกับกีฬาค่ะ ขึ้นชื่อว่าทักษะ ก็ต้องมีการฝึกซ้อม มีวินัย และมีความอดทน ผลดีที่ได้รับจะโชว์ขึ้นมาในบทเพลงให้เห็นเลยล่ะค่ะ :)))

เรียนบัลเลย์ ได้ประโยชน์กว่าที่คิด :)

วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555 - เขียนโดย demelody ที่ 04:14
Ballet - Pre Primary


 

             บัลเลย์ เป็นอีกวิชาหนึ่งที่ผู้ปกครองควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้ ถึงแม้จะมีการเต้นหลากหลายรูปแบบในปัจจุบัน แต่การเรียนบัลเลย์นั้นได้อะไรมากกว่าที่คิด
             หากน้องๆได้เรียนบัลเลย์ จะมีทักษะพื้นฐานด้านการเต้นที่ดี บุคลลิกภาพดี สง่างาม สามารถจับจังหวะได้ดีจากการฟังและทำท่าประกอบ กล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกายจะได้รับการพัฒนาให้ยืดหยุ่นและแข็งแรงเต็มที่ มีจิตใจที่สงบ มีสมาธิแน่วแน่มากขึ้น สมองจะได้รับการพัฒนาทั้งซีกซ้ายและซีกขวา เนื่องมาจากการฟังเพลงคลาสสิคในขณะที่เราต้องเต้นไปด้วย
            เรียนบัลเลย์ไม่จำเป็นจะต้องคาดหวังปลายทางไว้ให้ลูกๆ ว่าจะต้องเรียนไปจนถึงเมื่อไร จะทำอะไรต่อไปได้ แค่เราเก็บเกี่ยวประโยชน์ระหว่างทางที่ได้เรียนรู้ นั่นก็เป็นประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุดแล้วค่ะ

ทำไมต้องเริ่มด้วยการ...เรียนเปียโน"คลาสสิค"

วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555 - เขียนโดย demelody ที่ 23:56
           โดยปกติหลักสูตรเปียโนที่รร.จะให้เรียนก็คือ เปียโนคลาสสิค...นร.รุ่นโต(มัธยม)หลายคนที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อนอยากเรียนเปียโน(Pop) โดยส่วนตัวครูก็จะสอนให้นะคะ แต่ต้องขอให้เรียนเปียโนคลาสสิคควบคู่ไปด้วย...เพราะอะไรรู้มั้ยคะ^^

          การเรียนเปียโนคลาสสิคนั้น ไม่ได้เพื่อให้เราเล่นเพลงในยุคคลาสสิค หรือเพลงพื้นฐานสากลอื่นๆได้เท่านั้น ไม่ใช่ว่าเราชอบหรือไม่ชอบจึงเล่น แต่การเรียนเปียโนคลา่สสิคยังเป็นพื้นฐานในการพัฒนาการเรียนเปียโนในแบบอื่นๆด้วยเช่นกัน

          เรื่องกล้ามเนื้อนิ้วมือ - นร.จะได้เริ่มจากการนั่ง ท่าทางการวางมือ การกดตัวโน๊ตด้วยนิ้วเดียวและเพิ่มขึ้นทีละตัว Finger Drill และได้ฝึกแบบฝึกหัดนิ้วมืออื่นๆเพื่อพัฒนากำลังนิ้วให้สามารถเล่นเพลงที่ยากขึ้นได้ โดยใช้กำลังในส่วนที่ถูกต้อง

            การอ่านสัญลักษณ์ และทฤษฎีทางดนตรี - ในหนังสือเรียนเปียโนจะมีการออกแบบให้นร.ได้เรียนรู้สัญลักษณ์ต่างๆพร้อมกับบทเพลงนั้นๆ เิพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากเราเรียนเปียโนป๊อป(เพลงยอดนิยมทั่วไป) เราอาจจะต้องเรียนลัด เรียนข้ามไปบ้าง
          สิ่งต่่างๆเหล่านี้ได้ถูกออกแบบไว้ในหลักสูตรการเรียนเปียโนคลาสสิค โดยมีการวิจัยและพัฒนาขั้นตอนให้การเรียนการสอนมีมาตรฐาน แม้หนังสือแต่ละเล่มจะเรียนแตกต่างกันบ้าง แต่เนื้อหาที่สำคัญเหล่านี้จะมีครบอยู่ทุกหลักสูตรการเรียนเปียโนคลาสสิค


                ดังนั้น ถ้าน้องๆอยากเรียนเปียโน ผู้ปกครองควรจะอดทนสักนิดเพื่อให้น้องๆได้ฝึกฝนเปียโนคลาสสิคให้ดีก่อน จึงจะคาดหวังให้น้องๆเล่นเพลงยอดนิยม หรือถ้านร.อยากเล่นเพลงโน้นนี้ให้ได้ อาจจะขอให้ครูสอดแทรกเพลงให้บ้างแต่ก็ห้ามทิ้งพื้นฐา่นในหนังสือเรียนเด็ดขาด เพื่อประโยชน์ของนักเรียนเองค่ะ

         ผู้ใหญ่ที่อยากเรียนเพลงโปรดของตัวเอง(Pop)ก็อย่าเพิ่งถอดใจไปนะคะ เพราะการเรียนเปียโนคลาสสิคนั้นถือเป็นข้อแนะนำค่ะ อาจจะเสริมๆสลับๆไปบ้างก็ได้ค่ะ...ขอให้สนุกกับการเรียนเปียโนนะคะ:)